เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทกับทุกเรื่องในชีวิต ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งการแข่งขันฟุตบอล
เพราะฟุตบอลคือกีฬาที่ต้องใช้คนตัดสิน และการใช้ “คน” ตัดสินย่อมมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้เสมอ ดังนั้นเราจึงต้องมีทั้งเทคโนโลยีอย่าง โกลไลน์ และ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งสองอย่างต้องใช้งบประมาณไม่น้อย ทำให้ไม่ใช่ทุกลีกบนโลกสามารถใช้งานมันได้
อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่ราคาไม่ถึง 300 บาท แต่กลับเป็นนวัตกรรมที่ทุกคนผู้เกี่ยวข้องต้องยกนิ้วให้ มันคือ “สเปรย์ล่องหน” อุปกรณ์ขั้นเทพที่ราคาแสนถูกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโลกแตกในเกมฟุตบอลได้จริง
แต่ก่อนทำกันยังไง ?
ฟรีคิก เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันฟุตบอลมาอย่างยาวนาน มันนานจนไม่มีใครบันทึกไว้อย่างแน่ชัดว่าใครเป็นคนคิดค้นการฟาวล์ และ การเตะฟรีคิก เป็นคนแรก หลักฐานชิ้นที่ปรากฏคือมันมีอยู่ในกติการการแข่งขันฟุตบอลของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ในปี 1863 หรือเกือบ ๆ 200 ปีก่อน
เมื่อมีฟรีคิกก็ต้องมีกำแพง และกำแพงในสมัยก่อนก็ไม่ได้ถอยไปไกล 10 หลา (9.1 เมตร) แบบนี้ ว่ากันว่ากำแพงสมัยก่อนแทบจะยืนห่างจากจุดยิงฟรีคิกแค่ 1 เมตรเท่านั้น ระยะดังกล่าวนั้นใกล้มากเกินไปจนมีการร้องขอให้แก้กฎและเพิ่มระยะระหว่างจุดตั้งเตะกับกำแพงจึงไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการตั้งกติกาอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2000
แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ใครบ้างที่ชอบไม่เอาเปรียบ ? แม้จะมีกฎแต่มนุษย์ก็ใช้สิ่งที่เรียกว่า “เล่ห์เหลี่ยม” ที่ทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่เสมอ เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นเคยกันดีกับจังหวะ “ขยับกำแพง” ขึ้นมาข้างหน้าให้ใกล้จุดยิงมากขึ้น ในระหว่างที่ผู้ตัดสินจัดระเบียบกำแพงอยู่แล้วถึงหันไปจัดระเบียบคนยิงประตู ช่วงเวลาพริบตาเดียวจาก 10 หลาก็อาจจะเหลือระยะห่างแค่ 7-8 หลาเท่านั้นถ้าผู้ตัดสินไม่ทันเกม
เมื่อมีคนเริ่มเอาเปรียบก่อน อีกฝ่ายก็คงไม่สามารถยอมได้ง่าย ๆ เรื่องอะไรที่จะยอมเสียเปรียบฝ่ายเดียว … เช่นกันเมื่อมีการขยับกำแพงให้ใกล้และกดดันคนเตะฟรีคิกมากขึ้น คนเตะฟรีคิกก็ใช้เหลี่ยมเดียวกันในการ “ขยับบอล” ให้เหมาะกับวิธีการเล่นลูกตั้งเตะของพวกเขา บางคนชอบขยับบอลให้ใกล้ บางคนก็ชอบขยับฟุตบอลให้ไกลกำแพงมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้คือปัญหาโลกแตกจริง ๆ เพราะในขณะที่กรรมการสนใจฝั่งไหนอยู่ อีกฝั่งหนึ่งก็จะเริ่มใช้เหลี่ยมเอาเปรียบทันที … ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่กับปัญหาโลกแตกแบบนี้มายาวนานเหลือเกิน และไม่มีใครคิดจะแก้ไขมันจริง ๆ และการชิงเหลี่ยมเรื่องกำแพงและจุดเตะฟรีคิกก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่าเสน่ห์ของฟุตบอล … แต่ที่สุดแล้วมันจะดีกว่าไหมหากสามารถทำทุกอย่างให้ถูกต้องแบบไร้ข้อครหา ?
สิ่งที่ใช้ไม่ต้องการอะไรมากและแทบไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ของง่าย ๆ นั่นคือการ “มาร์กจุด” ให้เรียบร้อย แน่นอน และชัดเจน และใครจะไปเชื่อว่าปัญหาทั้งหมดที่อยู่คู่กับโลกฟุตบอลมากเกือบ 200 ปีจบลงง่าย ๆ ด้วยสเปรย์สีขาวกระป๋องละไม่ถึง 300 บาทกระป๋องเดียวเท่านั้น
ง่าย ๆ แต่ใครคิด ?
แนวคิดเรื่อง สเปรย์มาร์กจุดตั้งเตะ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “สเปรย์ล่องหน” เกิดขึ้นในปี 2000 จากกลุ่มนักประดิษฐ์ที่ประเทศบราซิล นำโดยเจ้าของไอเดียอย่าง ไฮเน่ อัลเลมานจ์ พวกเขาใช้ของง่าย ๆ แบบนี้ในการแข่งขันฟุตบอล บราซิล ซีรีย์ เอ หรือลีกสูงสุดของประเทศบราซิลอย่างเป็นทางการในฤดูกาล 2000-01
เชื่อว่าแม้กระทั่งทุกวันนี้หลายคนก็น่าจะสงสัยว่าในกระป๋องสเปรย์ล่องหนมีอะไรบ้าง มีบางกระแสบอกว่ามันคล้าย ๆ กับโฟมโกนหนวด แต่จริง ๆ แล้ว 1 กระป๋องนั้นประกอบด้วยน้ำ 80% ก๊าซบิวเทน 17% สารลดแรงตึงผิว 1% และส่วนผสมอื่น ๆ อาทิ น้ำมันพืช อีก 2% .. “แค่นี้เอง” ส่วนผสมแค่นี้แหละที่เปลี่ยนโลกฟุตบอลอย่างแท้จริง…
อัลเลมานจ์ไม่ได้คิดถึงแค่ตอนมาร์กเท่านั้น เพราะสเปรย์ดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษที่หลังจากฉีดลงไปที่พื้นสเปรย์จะยังคงอยู่ประมาณ 30-60 วินาที และจากนั้นก็จะสลายตัวไปเอง ซึ่งนั่นทำให้เจ้าสเปรย์นี้จะไม่รบกวนการแข่งขันเลยแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าจบครบในกระป๋องเดียวอย่างแท้จริง
การนำมาใช้ในลีกบราซิลได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนบอลและทีมที่ลงแข่งขัน ฝั่งผู้คิดค้นก็ไม่รอช้า พวกเขารู้แน่ว่าสเปรย์ล่องหนจะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญของโลกฟุตบอล จึงเกิดการจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการในปี 2002
จากนั้นสเปรย์ล่องหนก็ถูกเอาไปทดลองใช้ในลีกต่าง ๆ มากขึ้น และไม่มีลีกไหนที่ไม่ถูกใจเจ้าสิ่งนี้ พวกเขาต่างพิจารณาที่จะเอาไปใช้กันจริงจังมากขึ้น มันยอดเยี่ยมจนถึงขึ้นที่ ยังต้องเอาไปพิจารณาเพื่อใช้ในในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ที่ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพ ซึ่งหลังจากนั้นทุกลีกอาชีพบนโลกนี้ก็ใช้สเปรย์ดังกล่าวเป็นเครื่องมาร์กจุดอย่างพร้อมเพรียง
ไม่มีใครปฏิเสธผลลัพธ์ของสเปรย์ล่องหนได้ เหล่ากรรมการที่ใช้มันในการแข่งขันใหญ่ครั้งแรกในฟุตบอลโลก 2014 อย่าง ฮาเวิร์ด เว็บบ์ กรรมการชื่อดังชาวอังกฤษยังต้องยกนิ้วให้ และบอกว่า “สเปรย์ล่องหนสามารถตรึงกำแพงให้อยู่กับที่ได้อยาชะงัดนัก และในทางกลับกันคนเตะฟรีคิกก็ได้รับการมาร์กจุดอย่างชัดเจน จากนี้ไปผมว่าลูกฟรีคิกจะเพิ่มความอันตรายให้กับเกมฟุตบอลมากขึ้น”
ขณะที่กรรมการชาวออสซี่อย่าง เบน วิลเลียมส์ ที่เป็นหนึ่งในผู้เคยใช้สเปรย์ล่องหนในโครงการนำร่องก่อนฟุตบอลโลก (ทดลองใช้ในฟุตบอลโลกยู-20) ก็พูดไม่ต่างกันว่าสเปรย์กระป๋องนี้จบเรื่องทุกอย่างได้โดยที่ผู้เล่นไม่ต้องมายืนเถียงกันให้เสียเวลาอีกต่อไป
“ผู้เล่นส่วนใหญ่เคารพเจ้าสเปรย์นี้ มันคือสุดยอดนวัตกรรมที่ผมรอมาตลอด เราเริ่มโครงการนี้ในช่วง 2 ปีก่อนฟุตบอลโลก และผลลัพธ์ก็ออกมาดีมาก เชื่อได้เลยว่าฟุตบอลโลก 2014 จะเป็นฟุตบอลโลกที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอาชีพเป็นผู้ตัดสิน” กรรมการชาวออสซี่ กล่าว
หลังจากฟุตบอลโลก 2014 เริ่มแข่งขันและสเปรย์ล่องหนปรากฏต่อสายตาชาวโลกในเกมคู่เปิดสนามระหว่าง บราซิล กับ โครเอเชีย ช่วงเวลาดังกล่าวไม่ใช่แค่จุดเปลี่ยนของวงการฟุตบอลเท่านั้น แต่มันยังเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ไฮเน่ อัลเลมานจ์ ผู้คิดค้นสเปรย์ล่องหนนี้ด้วย
ยิ่งค้นคว้าเรายิ่งค้นพบ
เรื่องของสเปรย์จบไปแล้ว เพราะหลังจากฟุตบอลโลก 2014 ทุกลีกชั้นนำก็พาเหรดกันใช้ต่อ ๆ กันไป แต่เรื่องของผู้คิดค้นอย่าง ไฮเน่ อัลเลมานจ์ นั้นไม่จบง่าย ๆ
อัลเลมานจ์เล่าว่าช่วงที่เขาเห็นสิ่งของที่เขาคิดค้นขึ้นมาถูกนำไปใช้ในฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดในโลกมันทำให้เขาน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าตลอดระยะเวลากว่า 14 ปีที่เขาคิดค้นสเปรย์นี้ เขาตัดสินใจได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดแล้วในชีวิต
“ผมอุทิศชีวิตเพื่อสเปรย์กระป๋องนี้ถึง 14 ปี หลังจากกรรมการเอามันมาใช้ คำวิจารณ์ที่ผมเคยโดนคนอื่นหัวเราะเมื่อครั้งอดีตก็หายไปโดยปริยาย ผมบอกกับตัวเองว่า ‘สรุปเราไม่ได้บ้า และเรืองนี้ก็ไม่ได้ไร้สาระ มันคุ้มค่าอย่างที่สุด'” อัลเลมานจ์ กล่าวกับ เดอะ มิร์เรอร์
อัลเลมานจ์ย้อนความหลังไปยาวไกลถึงปูมหลังชีวิตที่ยากจน เขาในฐานะนักประดิษฐ์สติเฟื่องก็เป็นตัวตลกในสายตาของคนอื่นมาตลอด สิ่งที่ทำให้เขาโดนหัวเราะมากที่สุดก็คือสเปรย์ล่องหนนี่แหละ เพราะในอดีตผู้คนไม่เคยสนใจเรื่องความถูกต้องของระยะการตั้งกำแพง โดยใช้คำว่าเสน่ห์ของฟุตบอลมาเป็นข้ออ้าง
“บ้านผมยากจน ครอบครัวเรานอนอัดกันในห้องเล็ก ๆ ห้องเดียว ผมไม่เคยได้ของเล่นใหม่ ไม่เคยได้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ พ่อและแม่ส่งผมออกไปทำงานตั้งแต่ 8 ขวบ” อัลเลมานจ์ กล่าว
การสู้ชีวิตทำให้อัลเลมานจ์ได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง และเจ้าสเปรย์กระป๋องนี้ทำให้เขาต้องใช้เวลากับมันนานมากทั้งในส่วนของการคิดค้นและการนำมันไปเสนอต่อองค์กรฟุตบอลต่าง ๆ รวมถึงฟีฟ่าด้วย โดยในช่วงที่สเปรย์นี้ยังไม่ฮิตอัลเลมานจ์ต้องใช้ชีวิตแบบทุ่มกับงานสุดขีด เขาขลุกอยู่กับมันจนไม่ค่อยมีโอกาสได้พบหน้าลูก ๆ และคนในครอบครัว
เขาอยู่อย่างคนถังแตกมานาน และในที่สุดความพยายามของเขาก็สำเร็จ เมื่อมีการนำเสนอเรื่องนี้ไปยัง เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานของฟีฟ่าในเวลานั้น และในที่สุดฟีฟ่าก็ซื้อไอเดียของอัลเลมานจ์ … จุดเปลี่ยนดังกล่าวทำให้ชีวิตที่ยากลำบากทั้งหมดไม่สูญเปล่า อัลเลมานจ์ได้ค่าลิขสิทธิ์และขายผลิตภัณฑ์สเปรย์ล่องหนจนทำเงินได้มหาศาล แค่ในฟุตบอลโลก 2014 ครั้งนั้นเขาก็ได้เงินมากถึง 5 แสนปอนด์ (ราว 21 ล้านบาท) และเจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกมองว่าไร้สาระนี้เองที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง
“ถ้าจะบอกว่าไม่หวังเงินทองก็คงจะเป็นเรื่องโกหก เพราะสเปรย์นี้เปรียบเหมือนกับการต่อสู้ตลอด 14 ปีของผม ผมใช้เงิน ใช้เวลา และใช้ความคิดกับมันอย่างเต็มที่ ผมใช้เวลากับมันแทนที่จะได้เห็นลูก ๆ เติบโต ผมทุ่มให้ของสิ่งนี้อย่างสุดตัวเท่าที่ผมจะทำได้” อัลเลมานจ์ กล่าวต่อ
ทุกวันนี้ สเปรย์ล่องหน ยังคงวางขายตามอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ขวดละ 6.9 ยูโร (298 บาท) ต่อ 1 กระป๋อง นับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2014 สเปรย์ล่องหนถูกฉีดลงบนพื้นสนามฟุตบอลมามากมายจากทุกมุมโลก ทุก ๆ การฉีดลงบนพื้นหมายถึงเงินได้เข้ากระเป๋าของนักประดิษฐ์สติเฟื่องที่หลายคนมองว่า “บ้า” อย่าง ไฮเน่ อัลเลมานจ์
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหัวเราะทีหลังดังกว่าเป็นไหน ๆ